Wednesday, October 11, 2006

ประวัติ 26 ครม. ในรัฐบาลชุดใหม่

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/newgov/index.html

วันที่ 8 ตุลาคม พุทธศักราช 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แล้วนั้น

บัดนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ดังนี้

1) หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เกิดที่วังเทเวศร์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2490 จบปริญญาโทธุรกิจต่างประเทศ และการเงิน จากวาร์ตัน สกูล ออฟ ไฟแนนซ์ แอนด์ คอมเมิซ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เพนซิลวาเนีย เมื่อปี 2513 เคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา และเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2544

2)นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เกิดที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2486 จบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจนเป็นรองเลขาธิการ ด้านการเมืองเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และตำแหน่งล่าสุดเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพจำกัดมหาชน

3)คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 จบการศึกษาปริญญาโทบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เริ่มทำงานที่สำนักงาน ก.พ. จนเป็นเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งนับเป็นสตรีคนแรก ต่อมาในปี 2545 เป็นปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารคนแรก และย้ายมาเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2547 นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลทางด้านสตรี อีกหลายรางวัล

4)นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2498 จบการศึกษาปริญญาเอกรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าว ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ต่อมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนเป็นคณบดีและยังได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งประเทศไทย มีผลงานวิจัยหลายชิ้นอันเป็นที่มาของการจัดตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นต้น

5) พลเอก บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2484 จบโรงเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 12 จบหลักสูตรการสงครามชั้นสูงจากฝรั่งเศส รวมถึงโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52 รับราชการครั้งแรก ในหน่วยทหารราบและเกษียรอายุเมื่อปี 2545 ในตำแหน่งเสนาธิการทหารบก

6) พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เกิด วันที่ 6 เมายน 2483 คู่สมรส คุณหญิงมัญชุมาศ ห้าวเจริญ มีบุตรชาย 1 คน คือ นายเกล้า ห้าวเจริญ
การศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล 2499 โรงเยนนายเรือเกียรตินิยมชั้นเอก 2506 โรงเรียนปราบเรือดำน้ำ สหรัฐอเมริกา 2512 โรงเรียนเสนาธิการทหารรเรือ 2518 เครื่องฝึกยุทธกีฬา สหราชอาณาจักร 2520 วิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐอเมริกา 2525
วิทยาลัยการทัพเรือ 2533
จากนั้นไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรป้องกันราชอาณา (รุ่นที่ 36 ) 2537
ประวัติการรับราชการ
2518 เป็นผู้บังคับการเรือหลวงช้าง ต่อมาในปี2521 เป็นนายธงผู้บัญชาการทหารเรือและในปี 2526 นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำเสนาธิการทหารเรือ ต่อมาขยับเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำผู้บัญชาการทหารรเรือในปี 2527
ในปี 2529 ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารรเรือ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐ 2533 เลขานุการกองทัพเรือ ในปี2535 เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ และขยับเป็นผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพเรือในปี 2536
ต่อมาในปี 2537 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธบริการ ก่อนจะมาเป็น รองเสนาธิการทหารเรือ ในปี 2538 และขยับเป็นเสนาธิการทหารเรือ ในปี 2539
ต่อมาในปี 2540ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารรเรือ 2541- 2543
ตำแหน่งทางการเมือง
สมาชิกวุฒิสภา 2539-2542
หน้าที่และกิจกรรมพิเศษ
ราชองครักษ์พิเศษ ตุลาการศาลทหารสูงสุด อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล อุปนายกสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์
-มหาปริมาภรณ์ช้างเผือก
-มหาวชิรมงกุฎ
-ประถมาภรณ์ช้างเผือก
-เหรียญราชการชายแดน
-เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1
เครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
-เหรียญ THE LEGION OF MERIT( DEGREE OF OFFICER) U.S.A.

7) นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2484 จบปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี 2511 จนกษียรอายุราชการ เมื่อปี 2544 ในตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะเจรจราข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ ในรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

8)นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2485 เริ่มรับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2509
ตำแหน่งที่สำคัญ
พ.ศ. 2514 เลขานุการโท เจ้าหน้าที่การทูต 5 คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย
ประจำสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก
พ.ศ. 2517 เลขานุการโท เจ้าหน้าที่การทูต 5 กองนโยบายและวางแผนสำนักงานปลัดกระทรวง
พ.ศ. 2519 หัวหน้ากองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจ
พ.ศ. 2520 หัวหน้ากองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมการเมือง
พ.ศ.2521 เลขานุการเมือง เจ้าหน้าที่การทูต 6 สถานเอกอัครราชทูตไทย
ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
พ.ศ. 2522 ที่ปรึกษา (เจ้าหน้าที่การทูต 8) สถานเอกอัครราชทูตไทย
ประจำกรุงปักกิ่ง
พ.ศ. 2523 อัครราชทูตที่ปรึกษา (เจ้าหน้าที่การทูต 9) สถานเอกอัครราชทูตไทย
ประจำกรุงปักกิ่ง
พ.ศ. 2524 รองอธิบดีกรมสารนิเทศ
พ.ศ. 2525 รองอธิบดีกรมการเมือง
พ.ศ. 2526 อธิบดี (เจ้าหน้าที่การทูต 10) กรมสารนิเทศ
พ.ศ. 2529 เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
พ.ศ. 2533 อธิบดีกรมเศรษฐกิจ
พ.ศ. 2536 เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
พ.ศ.2539 รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร 10) สำนักงานปลัดกระทรวง
พ.ศ. 2543 เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงแคนเบอร์ร่า
ทั้งนี้ เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2545

9)นายสุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา
เกิดที่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2485 สำเร็จการศึกษาสูงสุด ระดับปริญญาเอกด้านการบริหารการศึกษาระดับอุดมศึกษา และการพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยรับราชการทหารประจำกรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุด
จากนั้นเป็นรองโฆษกรัฐบาล สมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และเป็นโฆษกรัฐบาลสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมาในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในปี 2543 มหาวิทยาลัยวูลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย มีมติให้เป็นภาคีสมาชิกแห่งมหาวิทยาลัย ในฐานะบุคคลผู้ทำประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยและมวลมนุษยชาติ

10)นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์
เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2484 สำเร็จการศึกษาสูงสุด ระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮัล ประเทศอังกฤษ เคยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ต่อมาในปี 2540 เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน บทบาทด้านการเมือง เป็นวุฒิสมาชิก ในปี 2539 - 2543 และเป็นที่ปรึกษา ด้านปัญหาสังคม กระทรวงการคลัง ในสมัยแรกของรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

11)ดร.ธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เกิดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 25484 ปัจจุบันอายุ 64 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ร.ร.อัสสัมชัญ เคยเป็นนิสิตคณะกสิกรรมและสัตวบาล ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2502 ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาตรี B.S. Hons. ปริญญาโท M.S. และเอก Ph.D. Plant Pathology ที่ University of Califormia (Davis) ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2511 ก็กลับมาเป็นอาจารย์ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มก. และปี 2520 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระ สูตะบุตร ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองแผนงานมก.คนแรกยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบัน และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นคนแรก ในระหว่างปี 2534-2540
สมรส กับนางสุนงนาท สูตะบุตร มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นายหรินทร์ นายธีร์ภัทร นายธนัย และนายธีรทัศ และได้ร่วมกับครอบครัวก่อตั้งและบริหารโรงเรียนพิชญศึกษา เมื่อปีพ.ศ. 2533
จากนั้นปี 2539 ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมก. หลังจากพ้นวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีมก. ปี 2545 ก็ขอเกษียณอายุราชการแต่ยังวนเวียนอยู่ในแวดวงการศึกษา และการเกษตร ทั้งตำแหน่ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีรัฐร่วมเอกชน มก. และยังได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์ประจำปี. 2548

นอกจากนี้ ยังเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)กรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(องค์การมหาชน) กษ. กรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กษ.
ประธานสภาสมาคมการเกษตรไทย นายกสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ
กรรมการบริหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กรรมการบริหารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการศึกษาระบบการเตือนภัยล่วงหน้า สำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหารและกรรมการสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สภาวิจัยแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะทำงานจัดทำโครงสร้างนโยบายและแนวทางการวิจัยของชาติระยะยาว (พ.ศ. 2551-2560)

12)นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2491 จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา ในเดือนธันวาคม 2544 ประกาศลาออกจากเลขาธิการ สภาพัฒน์ฯในขณะที่ยังเหลืออายุราชการอีก 6 ปี ให้เหตุผลว่าต้องการใช้เวลากับครอบครัว แต่มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นเพราะถูกกดดันทางการเมือง เพราะการทำงานของสภาพัฒน์ฯในรัฐบาล ”ทักษิณ” ไม่ค่อยเข้าขากับคนของรัฐบาล และลาออกจากตำแหน่งเลขาสภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545

13)นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2481จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ เกียรตินิยมจากเซอร์ จอห์น แคส มหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา จากวิลเลียมส์ คอลเลจ สหรัฐอเมริกา
เริ่มทำงานในตำแหน่งเศรษฐกรเอก ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการและปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และได้ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ 1 ปีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2541

14)นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหานคร เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
เส้นทางการศึกษาหลังจากจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนศิริวิทยากร เดินทางเข้ากรุงเทพ เพื่อเรียนต่อม.ปลายที่โรงเรียนเซนต์จอห์น ระหว่างที่ศึกษาชั้น ม.ศ. 5 ได้รับทุน อเมริกัน ฟีลด์ เซอร์วิส เป็นเวลา 1 ปี
และเริ่มต้นในรั้วมหาวิทยาลัยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนได้เพียง 1 เดือน ก็ได้รับทุนโคลัมโบ แพลน ของรัฐบาล ออสเตรเลียสอบคัดเลือกได้ลำดับที่ 1 ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย นิวเซาท์เวลล์ จนได้รับปริญญาดอกเตอร์ ออฟ ฟิโลโซฟี ทางด้านโซลิด สเตท อีเลคทรอนิคส์
เข้ารับราชการที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังนาน 14 ปี ก่อนจะลาออกมาก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครมาตั้งแต่ปี 2545 จนปัจจุบัน

15)นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา
เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2486 ที่ตำบลชนะสงคราม อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร การศึกษาจบปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิดนี ออสเตรเลีย รับราชการครั้งแรกที่กรมวิเทศสหการ
ก่อนจะมาร่วมงานกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยตำแหน่งหลังสุดคือ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทย หลังจากนั้นบรรจุกลับเข้ารับราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปี 2536 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ และในปี 2539 ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก 2543 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ จนถึงปี 2544
รัฐบาลภายใต้การนำของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้มีคำสั่งย้ายจากปลัดกระทรวงไปเป็นที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านการค้า ระหว่างประเทศและปี 2545 ได้ให้ทนายยื่นฟ้องพันตำรวจดททักษิณและนายอดิศัย โพธารามิก ต่อศาลปกครอง กรณีโยกย้ายไม่เป็นธรรมแต่ศาลได้ยกฟ้องในปีต่อมา

16)นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บลจ. กสิกรไทย
เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2496 ที่กรุงเทพมหานคร จบปริญญาตรีคณิตศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ ปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ และปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน
ในขณะอายุ 26 ปี เริ่มรับราชการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มาร่วมดูแลนโยบายพลังงาน เป็นเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติคนแรก
เคยเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อปี 2543 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้ย้ายไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ และต่อมาถูกโอนไปเป็นรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และต่อมาถูกย้ายไปเป็นรองเลขาสภาพัฒน์ฯ
วันรุ่งขึ้นได้ยื่นหนังสือลาออกจากรราชการทันที ระบุไปประกอบอาชีพอื่น แต่เหตุผลลึกๆตลอด 2 ปี 8 เดือนถูกฝ่ายการเมืองย้ายไปอยู่ตำแหน่งต่างๆถึง 5 ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าฝ่ายการเมืองไม่ให้โอกาสทำงานเท่าที่ควร

17)นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2478 จบปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารรัฐกิจ จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐ
เริ่มรับราชการเป็นปลัดอำเภอ ที่อำเภอบางกอกใหญ่ ธนบุรี เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย/อธิบดีกรมที่ดิน และปลัดกระทรวงมหาดไทยในปี 2536 และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการใน ครม.ทักษิณ 10 เมื่อปี 2547

18)นายบัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
เกิดวันที่ 29 ตุลาคม 2487 อายุ 62 ปี จบการศึกษาปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ประวัติการทำงาน อดีตอธิบดีกรมที่ดิน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา,นครศรีธรรมราช,และ สงขลา อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นอดีตผู้อำนวยศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)คนสุดท้ายก่อยจะถูกยุบ

19)นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เกิดวันที่ 25 เมษายน 2489 อายุ 60 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย ประวัติการทำงาน เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี 2515 จากนั้นเป็นผู้พิพากษาประจำศาล และเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกระบี่, เพชรบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง รองประธานศาลฎีกา ก่อนที่จะรับตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในปี 2548

20)นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
เกิดวันที่ 24 ธันวาคม 2486 อายุ 63 ปี จบการศึกษาปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประวัติการทำงาน อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

21) คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อายุ 69 ปี จบการศึกษาปริญญาโทอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร

22) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เกิดวันที่ 4 พฤษภาคม 2487 อายุ 62 ปี จบการศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ /นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในปี 2527 และบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2547

23) นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เกิดวันที่ 22 ธันวาคม 2477 อายุ 72 ปี จบปริญญาเอก ด้านบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมินนีโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟูลไบรท์
ประวัติการทำงาน อดีตอาจารย์คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเลขาธิการ ก.พ. อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

24) นายมงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เกิดวันที่ 16 มกราคม 2484 อายุ 65 ปี จบแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประวัติการทำงาน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย จังหวัดนครราชสีมา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อดีดปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นแพทย์ชนบทดีเด่นปี 2519

25) นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2492 อายุ 57 ปี จบการศึกษาปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลัง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประวัติการทำงาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม

26) นายรุ่งเรือง อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2481 อายุ 68 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองโครงการเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงปี 2536-2542

และตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)