Tuesday, September 19, 2006

ประกาศคณะปฏิรูปฯ (16-32)

ที่มา http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=102182&NewsType=1&Template=1
ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 16

เรื่อง ให้คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา

เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่องในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ดำเนินการเรื่องใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการให้ความเห็นชอบแทนรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ในเรื่องนั้น
ประกาศ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2549

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

ประกาศหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 17

ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 17 เรื่อง มอบอำนาจบริหาราชการแผ่นดินตามประกาศ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2549 มีคำสั่งให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือผู้ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มอบหมายนั้น เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี แทนหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังกล่าวข้างต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการและปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ประกาศ ณ วันที่ 22 ก.ย. 2549 ลงชื่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

--------------------------------------------------------------

ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 18

เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระบบการบริหารงานตำรวจเพื่อให้มีความเป็นอิสระเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น และมิให้อิทธิพลทางการเมืองก้าวก่ายการดำเนินกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น อันจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1 นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ กตร. ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ
(2) จเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด จำนวน 2 คน
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากประธาน และกรรมการตาม (2) ให้ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นกรรมการและเลขานุการ กตร. และรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ กตร.

ข้อ 2 ให้การดำเนินการของ กตร. ตามข้อ 1 มิให้นำความในมาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 57 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการทำความตกลงและการให้ความเห็นชอบมาใช้บังคับ

ข้อ 3 การใดที่ กตร. ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับนี้ใช้บังคับ แต่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ และมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลและอยู่ในอำนาจของ กตร. ให้ กตร. ตามข้อ 1 พิจารณาดำเนินการตามควรแต่กรณี

ข้อ 4 ให้ กตร. ซึ่งดำรงอยู่ในตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง

ข้อ 5 ให้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 6 เมื่อได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ประกาศฉบับนี้เป็นอันยกเลิก ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

--------------------------------------------------------

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19

เรื่องให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป

เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สมควรปรับปรุง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และมีผลบังคับใช้ต่อไป คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

1.ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปราบการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหา

2.ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป

3.ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย

1.นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ
2.นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ
3.นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ
4.นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ
5.ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ
6.ศาสตราจารย์เมธี กรองแก้ว กรรมการ
7.นายวิชา มหาคุณ กรรมการ
8.นายวิชัย วิวิชเสวี กรรมการ
และ9.นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ

ข้อ 4. ในกรณีที่ประธานกรรมการ หรือ กรรมการ ตามข้อ 3 พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใด และมีกรรมการเหลืออยู่ตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ ถ้าประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่คัดเลือกกันเอง ให้กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทน
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งและมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึง 6 คน ให้นายกรัฐมนตรีสรรหาบุคคล เพื่อขอความเห็นชอบจากสภา ที่ทำหน้าที่นิติบัญญํติ และนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงลงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป หรือดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แล้วแต่กรณี

ข้อ 5 ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามข้อ 3 ดำเนินการตามมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ในกรณีที่บุคคลตามข้อ 3 ไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรค 1 หรือไม่อาจรับตำแหน่งได้ ให้นำความในข้อ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ประกาศมา ณ วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

-----------------------------------------------------------------
ประกาศ คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 20
เรื่อง ให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งมีผลให้คณะกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ต้องสิ้นสภาพลง ยกเว้นคณะกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ฉะนั้น เพื่อไม่ให้งานของคณะกรรมการต้องหยุดชะงักลง จึงให้คณะกรรมการดังกล่าว ยังคงอยู่ และปฏิบัติหน้าที่ที่มีอยู่ต่อไป เว้นแต่ส่วนราชการที่เป็นผู้เสนอขอให้มีคณะกรรมการนั้นๆ เห็นสมควรยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลง ให้ปลัดกระทรวงนั้นๆ เสนอขอคำวินิจฉัยต่อหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ คณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ให้หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือผู้ซึ่งหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มอบหมายเป็นประธานกรรมการ และสำหรับคณะกรรมการที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ให้รองหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือผู้ซึ่งรองหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มอบหมายเป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ จนกว่าจะมใการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ขึ้นบริหารราชการแผ่นดินแล้ว

ประกาศ ณ วันที่ 22 กันยายน พุทธศักราช 2549
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศ คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21

เรื่อง ห้ามดักฟังทางโทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารใด

โดยที่ในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการลักลอบดักฟัง ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการละเมิดเสรีภาพของบุคคล ในการสื่อสารถึงกัน ก่อให้เกิดความหวาดระแวงกันทั่วไปในหมู่ประชาชนผู้ใช้เครื่องมือสื่อสาร ดังนั้น เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และรักษาความสงบของประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

1.ผู้ใดดักฟังใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยซึ่งข้อความที่มีการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารสิ่งใด โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ผู้ใดรับรู้ข้อความที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามข้อ 1 ใช้ประโยชน์หรือเปิดเผยข้อความนั้นต่อผู้อื่นโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ผู้ใดใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ตามที่บัญญัติไว้ในความผิดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี

4.ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้บริการโทรศัพท์หรือการสื่อสาร หรือเป็นผู้ได้รับสัมปทานการให้บริการดังกล่าว นอกจากต้องได้รับโทษตามข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 แล้วแต่กรณีแล้ว ให้ใบอนุญาตหรือสัมปทานนั้นสิ้นสุดลงด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

-----------------------------------------------------------------

ประกาศ คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 22

เรื่อง ขอให้ยุติความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น

ตามที่คณะปฏิรูปฯ ได้ประกาศกฏอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา และได้มีประกาศฉบับที่ 7 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยไม่ให้มั่วสุมประชุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปนั้น ด้วยปัจจุบันปรากฎความเคลื่อนไหวของกลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งกลุ่มองค์กรอื่น ๆ ทั้งที่มีความมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านการดำเนินการของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อันจะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมต่อไป ดังนั้น คณะปฏิรูปฯ จึงขอประกาศให้กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ยุติความเคลื่อนไหวและการรวมกลุ่มทางการเมืองไว้จนกว่าสถานการณ์ของประเทศจะเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งคณะปฏิรูปฯ จะได้มีประกาศให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ หากมีผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษโดยเฉียบขาด

ประกาศ ณ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

-------------------------------------------------------------------------

ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23

เรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สิน

เนื่องด้วยปรากฏว่าการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง จึงสมควรดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานและโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีดังกล่าวว่าเป็น ไปโดยสุจริตหรือไม่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

1.นายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานกรรมการ
2.ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นกรรมการ
3.อัยการสูงสุดหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
4.เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
5.เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
6.เจ้ากรมพระธรรมนูญหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
7.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน เป็นกรรมการ
8.เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือผู้แทน เป็นกรรมการ

ให้คณะกรรมการตรวจสอบแต่งตั้งเลขานุการคนหนึ่ง และผู้ช่วยเลขานุการตามความจำเป็น

ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับผิดชอบงานด้านธุรการของคณะกรรมการตรวจสอบ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบมอบหมาย

ข้อ 2 ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการซึ่งได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง โดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินงานหรือโครงการใดมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และมีพฤติการณ์ว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรสและบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศนี้ นอกจากอำนาจตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย

1.พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม
2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
3.ประมวลรัษฎากร โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร เฉพาะที่เกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง คณะกรรมการตรวจสอบจะเรียกสำนวนการสอบสวนหรือการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจสอบแผ่นดินมาใช้ประกอบการพิจารณา และใช้เป็นสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ในกรณีที่มีเรื่องเดียวกันอยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือคณะกรรมการธุรกรรม ให้ประสานงานเพื่อดำเนินการตามควรแก่กรณี

ข้อ 3 ให้คณะกรรมการตรวจสอบแจ้งรายชื่อบุคคลตามข้อ 2 แก่สถาบันการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมที่ดิน กรมสรรพากร หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้นั้น เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและการเสียภาษีอากร ตลอดจนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของบุคคลตามข้อ 2 คู่สมรสและบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบภายในเวลาและตามวิธีการที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีอำนาจสั่ง ให้บริษัทหลักทรัพย์ส่งข้อมูลและเอกสารให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบได้ มิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับกับการแจ้งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 4 ในกรณีที่บุคคลซึ่งถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามข้อ 2 ไม่แจ้งข้อมูลตามข้อ 3 หรือไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ถูกยึด หรือยักย้าย จำหน่าย จ่ายโอนทรัพย์สินที่ถูกอายัด ให้ถือว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบและเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ
ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลตามข้อ 3 ไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดตามข้อ 3 หากมีกรณีเกิดความเสียหายขึ้นจากการที่ไม่ดำเนินการนั้น ให้หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ข้อ 5 บรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามข้อ 2 ถ้าเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น

ข้อ 6 ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ข้อ 7 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่มอบหมายได้

ข้อ 8 ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง และการตรวจสอบหรือสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี
ประกาศ ณ วันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2549

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

----------------------------------------------------------------------------

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 24

เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหน้าที่ของผู้ต้องหาในคดีอาญาให้พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม การกระทำผิดกฎหมายคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้ ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้าตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

-----------------------------------------------------------------------------

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับ ที่ 26
เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไป และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม และมีความต่อเนื่องนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ตามอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 1 ของประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับ ที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ข้อ 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิให้กระทบกระเทือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ยังคงใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก

ข้อ 2 ให้ยกเลิก ข้อ 2 และ ข้อ 3 ของประกาศณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับ ที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549

ข้อ 3 ให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับ ที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้รับการสรรหา และแต่งตั้งโดยชอบ โดยพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศดังกล่าว และมีอำนาจ และหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 และกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับ ที่ 27

เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งกำหนดเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำต้องห้ามตามกฎหมายนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

1.ให้ยกเลิกความในข้อ 1 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิให้กระทบกระเทือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ยังคงใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก

ข้อ 2 การห้ามพรรคการเมืองดำเนินการประชุม หรือ ดำเนินกิจการใด ๆ ทางการเมือง ตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2549 ให้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติเป็นอย่างอื่น

ข้อ 3 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค

ข้อ 4 ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำสั่งของศาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พุทธศักราช 2541 ก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นยังคงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งศาลของต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2549

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 28

เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 17 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 และฉบับที่ 18 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 17 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 เรื่องมอบอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน และฉบับที่ 18 ลงวันที่ 22 กันยายน พศ.2549 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาตินั้น บัดนี้สมควรให้การบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิม หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ให้ยกเลิกประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 17 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 เรื่องมอบอำนาจบริหารราชการแผ่นดินและฉบับที่ 18 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ

ข้อ 2.ให้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งบังคับใช้อยู่ก่อนวันที่ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 18 ลงวันที่ 22 กันยายนนี้ พ.ศ.2549 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติใช้บังคับมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไปเช่นเดิม

ข้อ 3.การยกเลิกประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามข้อ 1. ไม่กระทบกระเทือนการใดๆ ที่กระทำในระหว่างที่ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และให้ดำเนินการจัดให้มีคณะกรรมการข้าราชตำรวจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ และระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจตามวรรค 1 ให้บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตำรวจตามประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 18 ลงวันที่ 22 กันยายน พศ.2549 ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจไปพลางก่อน

ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พศ.2549
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29

เรื่องแก้ไขประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น เพื่อให้มีความชัดเจนในผลการใช้บังคับที่ยังคงให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใช้บังคับโดยต่อเนื่อง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

1. ให้ยกเลิกความในข้อ 1 ของประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

ข้อ 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิ ให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ยังคงใช้บังคับต่อไป เว้นแต่ส่วนบัญญัติในส่วนที่ 1 หมวด 1 จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิก และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2549 พ้นจากตำแหน่ง

2. ให้ยกเลิกความในข้อ 2 ของประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

ข้อ 2 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2550

ข้อ 3 ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับลง วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้พ้นจากตำแหน่ง ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามวรรค 1 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรค 1 ยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน

ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30

เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549 นั้น โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้กว้างขวางขึ้น คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ให้ยกเลิกประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549

ข้อ 2.ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่งประกอบด้วย 1.นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นกรรมการ 2. นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นกรรมการ 3.คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นกรรมการ 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ เป็นกรรมการ 5.นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นกรรมการ 6.นายบรรเจิด สิงห์คะเนติ เป็นกรรมการ 7.นายวิโรจน์ เลาหพันธ์ เป็นกรรมการ 8.นายสวัสดิ์ โชติพาณิช 9.นายสัก ก่อแสงเรือง เป็นกรรมการ 10.นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ เป็นกรรมการ 11.นายอุดม เฟื่องฟุ่ง เป็นกรรมการ 12.นายอำนวย ธันธรา เป็นกรรมการ ในกรณีที่กฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือห้ามการปฎิบัติหน้าที่อื่นในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งและการปฎิบัติหน้าเป็นกรรมการตรวจสอบ ให้กรรมการตรวจสอบวรรคหนึ่งเลือกกรรมการด้วยกันเองคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน และ ผู้ช่วยเลขานุการตามความจำเป็น ในกรณีที่มีกรรมการว่างลงให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฎิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดและให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนกรรมการที่ว่างลง

ข้อ 3.ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรับงานธุรการของคณะกรรมการตรวจสอบและปฎิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบมอบหมาย ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมมือดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบร้องขอ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลบุคลากรหรือการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดหาสถานที่ที่ทำการของคณะกรรมการตรวจสอบตามความเหมาะสม และในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบร้องขอให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐมาช่วยปฎิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบได้

ข้อ 4.ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยเจียดจ่ายเงินที่เหลือจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามจำนวนที่เห็นสมควรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบในกรณีที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณตามที่จำเป็น ค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดในการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบและค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดของเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในกับคณะกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี

ข้อ 5.ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1.ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบ โดยบุคคลใดในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2.ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทานหรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ 3.ตรวจสอบการปฎิบัติราชการใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 4.ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปด้วยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรอันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบและมีพฤติการว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึดหรืออาญัติทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น ควรสมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศนี้ นอกจากอำนาจตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการมีอำนาจตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย 1.พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงินและคณะกรรมการธุรกรรม 2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 3.ประมวลรัชดากรโดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรเฉพาะที่เกี่ยวกับการยึดอาญัติและการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบเรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูลหรือเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด และให้มีอำนาจเรียกสำนวนหรือเรื่องที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือเรียกสำนวนการสอบสวนหรือการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถ้ามีมาพิจารณาและให้ใช้เป็นสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยจะสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเรื่องเดียวกันอยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือคณะกรรมการธุรกรรม ให้ประสานงานเพื่อดำเนินการตามสมควรแก่กรณี 6.ให้คณะกรรมการตรวจสอบแจ้งรายชื่อบุคคลตามข้อ5 แก่สถาบันการเงินสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมที่ดิน กรมสรรพากร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้นั้น เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและการเสียภาษีอากร ตลอดจนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องบุคคลตามข้อ 5 คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบภายในเวลา และตามวิธีการที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด ในการปฎิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีอำนาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ส่งข้อมูลและเอกสารให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อแจ้งแก่คณะกรรมการตรวจสอบได้ มิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับการแจ้งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ข้อ7.ในกรณีที่บุคคลที่ถูกยึดและอาญัติทรัพย์ตามข้อ 5 หรืออาญัติทรัพย์สินตามข้อ 5 ไม่แจ้งข้อมูลตามข้อ 6 หรือไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ถูกยึดยักย้ายจำหน่ายหรือจ่ายโอนทรัพย์สินที่ถูกอาญัติให้ถือว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบ และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากความร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดว่าการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลตามข้อ 6 ไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดตามข้อ 6 หากมีกรณีเกิดความเสียหายขึ้นจากการไม่ดำเนินการนั้น ให้หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ข้อ 8.บรรดาทรัพย์สินที่ถูกหรืออาญัติตามข้อ 5 ถ้าเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นมิใช้ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่ไม่มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนการยึดหรืออาญัติทรัพย์สินนั้น ข้อ 9.ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และพระราชบัญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันตามความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้วแต่กรณี ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าบุคคลใดกระทำผิดกฎหมายและเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น ข้อ 10.ในการปฎิบัติหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฎิบัติการตามที่มอบหมายได้ ข้อ 11. ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งและการตรวจสอบหรือสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนวจหน้าที่ของตนแล้วแต่กรณี ข้อ 12.การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549 โดยประกาศฉบับนี้ไม่กระทบกระเทือนการใดๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบได้กระทำไปก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ

ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31

เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ต่อไปและแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ต่อไปด้วยนั้น

โดยที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีเรื่องค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะว่างเว้นจากการมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาเป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ให้ยกเลิกความในข้อ 1 และข้อ 2 ของประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ข้อ 1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังคงบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกและให้ถือว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2549 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ข้อ 2 การยกเลิกรัฐะรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้กระทบกระเทือนการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ยังคงใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิก ข้อ 2 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศฉบับดังกล่าวและมีวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ข้อ 3 กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดให้ดำเนินการตามมาตรา 34 เช่นเดียวกับกรณีการจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ข้อ 4 ในการดำเนินการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจออกคำสั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติไว้ชั่วคราว ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์ โดยมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวตามวรรค 1 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จัดให้มีการพิสูจน์เกี่ยวกับทรัพย์สินโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดชั่วคราวมิได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจยึดหรือยึดอายัดทรัพย์สินนั้นไว้ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะมีมติว่าทรัพย์สินนั้นมิได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งต้องไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันยึดหรืออายัด หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำร้องแต่ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ก็ให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้นั้น ข้อ 5 ในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อาจมอบหมายให้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กำหนด ข้อ 6 กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นสมควรอาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่ใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการทางวินัย หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้ ข้อ 7 การลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไม่ว่าเป็นมติในการวินิจฉัย หรือให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ถือเสียงข้างมาก ข้อ 8 บรรดาบทบัญญัติใดของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน

ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549
พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32

เรื่อง อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นแล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ยังคงสามารถตรวจสอบการกระทำที่ไม่สุจริตของผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
ข้อ 2. เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งตามข้อ 1 แล้ว หากภายหลังมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ได้รับการเลือกตั้งตามข้อ 1 ผู้ใดกระทำการใดๆ โดยไม่สุจริตหรือกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อตนเองได้รับการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือมีการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ได้รับการเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนดเวลา 1 ปี และดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เว้นแต่กระทำนั้นมิได้เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการเลือกตั้ง
ข้อ 3. บรรดาบทบัญญัติใดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บทบัญญัติในประกาศฉบับนี้แทน
ข้อ 4 .ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ดำเนินการก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับด้วย โดยกำหนดเวลา 30 วันตามข้อ 1 ให้นับตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ

ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2549
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข