Tuesday, July 25, 2006

ศาลสั่งจำคุก 3 กกต.4ปี ไม่รอลงอาญา-ส่งนอนคุก

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2006/07/25/w001_123121.php?news_id=123121

25 กรกฎาคม 2549 19:59 น.
(Update)ศาลพิพากษา จำคุก กกต. 4 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี สั่งออกหมายขัง พร้อมส่งคำร้องประกันตัวให้ ศาลอุทธรณ์พิจารณา ชี้พฤติการณ์ กกต.ส่อจัดเลือกตั้งมิชอบซ้ำสอง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ศาลโดยนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายกมล คำเพ็ญ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา เจ้าของสำนวน นายบันดาล ดังขุนทด ผู้พิพากษาศาลอาญา และองค์คณะอ่านคำพิพากษาจำคุก พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. จำเลยในความผิดฐาน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 42 และ มาตรา 38 เป็นเวลาคนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี กรณี ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 และ 29 เมษายน 2549 โดยไม่มีอำนาจ และการออกหนังสือเวียนถึง ผอ.กต.เขต ให้รับผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนสมัครใหม่ ตามที่นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2-4 แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 2-4 เป็น กกต.มีจำเลยที่ 2 เป็นประธาน และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยหลังจากวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งแล้วปรากฏว่ามีพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวที่ส่งผู้สมัครระบบบัญชีครบ 100 คน

โดยผู้รับสมัครเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยได้รับหมายเลข 2 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส่งผลให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงคนเดียวจำนวน 281 เขตเลือกตั้งจาก 400 เขต ในวันรับเลือกตั้งดังกล่าวจำเลยทั้ง 3 ได้จัดคูหาเลือกตั้งให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันหน้าไปทางผนังหรือฉากกั้นและหันออกด้านนอก และมีการติดรูปผู้สมัครและหมายเลขที่ผนังคูหาเลือกตั้ง


ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยจำนวน 38 เขตเลือกตั้งจาก 15 จังหวัดในภาค ใต้ได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำเลยที่ 2-4 ได้มีมติและออกประกาศ กกต. เรื่องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เมษายน 2549 และให้มีการรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน 2549และได้ออกหนังสือเวียนของสำนักงาน กกต. ที่ ลต 0301/ ว.568 ไปยังประธาน กกต.จังหวัดทุกจังหวัดในภาคใต้ยกเว้นระนอง เพชรบุรี และนนทบุรี ว่าผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 แล้วมาสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เมษายน โดยที่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้งนั้น ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน จำเลยทั้งสามได้มีมติกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตจังหวัดสงขลาในทุกเขตเลือกตั้ง ยกเว้นเขตเลือกตั้งที่ 5 เพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน และมีประกาศ กกต.ให้กำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติม จากนั้น ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1, 3 และ 4 จังหวัดสงขลา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน ศาลฎีกาได้มีคำสั่งที่ 2752/2549 วินิจฉัยว่า ตราบใดที่ กกต.ยังไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดย่อมยังถือไม่ได้ว่ากระบวนการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงแล้ว

กรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.อาจสั่งหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้นได้อีก โดย กกต.ไม่ต้องประกาศรับสมัครเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นทุกคน ยังคงเป็นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นอยู่ และศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกันอีกหลายคดี และเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ตลอดจนการเลือกตั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ย่อมส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ กกต.รับรองสิทธิทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อถูกเพิกถอนสิทธิ


คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-4 กระทำตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์และนายพิชัย ธรรม โชติ นายณรงค์ สุขจันทร์ นายดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ นายทิวา เงินยวง นายถวิล ไพรสณฑ์ และนายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตที่ 6 จังหวัดสงขลา และไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้ง การที่จำเลยที่ 2-4 มีมติออกประกาศ กกต.เรื่องการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ใน 38 เขตเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัครผู้สมัครใหม่เป็นมติที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2541 ม.7/2 เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจจำเลยที่ 2-4 ในเปิดรับผู้สมัครใหม่ คงให้อำนาจเพียงย่นหรือขยายเวลา หรืองดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้เหมาะสมกับการเลือกตั้งใหม่ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การกระทำของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้มีคู่แข่งในการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์คะแนนร้อยละ 20 เพราะจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าโอกาสที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยจะได้เกินร้อยละ 20 เป็นไปได้ยากดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ประกาศกกต.ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใหม่ได้รับหมายเลขประจำตัวเป็นหมายเลขเดียวกับแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน และให้ผู้สมัครของพรรคการที่ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หมายเลขต่อจากหมายเลขสุดท้ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิม จึงมีเจตนาช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้ได้เปรียบ เพราะพรรคการเมืองอื่นมีเวลาหาเสียงน้อยกว่า


คดีจึงต้องวินิจฉัยว่า การจัดให้เลือกตั้งใหม่ตาม ม.74 พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.พ.ส.2541 กรณีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียวได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20จำเลยทั้งสามจะสามารถเปิดรับผู้สมัครเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามถ้อยคำใน ม.74 และ รัฐธรรมนูญ ม.145 ประกอบ ม.10 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความหมายเรื่องการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เหมือนกันในทางว่า ไม่ว่าจะเป็นการสั่งหรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ กกต.ต้องดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตามคำเบิกความของนายทิวา เงินยวง พยานโจทก์ระบุว่า ตาม ม.74 หากจะเปิดรับสมัครใหม่ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งซ่อมหรือการเลือกตั้งทั่วไปต้องออก พ.ร.ฏ.เท่านั้น และยังระบุด้วยว่าหากการประกาศรับสมัครใหม่ ยังคงให้ผู้สมัครได้หมายเลขเดิมจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาค ขณะที่นายถวิล ไพรสณฑ์ พยานโจทก์เบิกความว่า การเลือกตั้งใหม่จะเปิดรับสมัครใหม่ไม่ได้ ซึ่งศาลเห็นว่านายทิวา จบการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยทำงานในสภาผู้แทนฯนาน 20 ปี เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ขณะที่นายถวิล ก็เคยเป็น ส.ส.และส.ว.และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้และเชื่อว่าเบิกความไปตามความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของตน โดยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ ม.7/2 บัญญัติว่า กกต.มีอำนาจ เพียงย่น ขยายเวลาและงดเว้นการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่มีอำนาจออกประกาศ กกต. กำหนดให้เลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตใหม่ โดยให้เปิดรับผู้สมัครใหม่


สำหรับประเด็นที่ กกต.ออกหนังสือเวียนทางโทรสารส่งไปยังประธาน กกต.เขตให้เปิดรับสมัครผู้สมัครรายเดิมที่ยังไม่ได้ประกาศผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่า แม้ในหนังสือเวียนจะระบุในตอนท้ายว่าอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและการประกาศรับผู้สมัครเป็นสิทธิของ ผอ.กต.ประเขตเลือกตั้ง แต่การที่ข้อความทางโทรสารได้อ้างถึงมติที่ประชุมของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการจูงใจให้รับสมัครผู้สมัครที่ย้ายเขตเลือกตั้งได้ อันมีผลทำให้ผู้สมัครคนเดียวสามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ถึงสองเขต โดยเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.108 ที่ให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตได้เพียงคนเดียว อีกทั้งขัดต่อประกาศ กกต.เรื่องการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้สิทธิผู้สมัครของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคส่งสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือแบบบัญชีรายชื่อได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และหากส่งแบบแบ่งเขตก็ได้เพียงเขตเดียว ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนที่ประชาชนไม่ได้ตัวแทนอย่างแท้จริงไปทำหน้าที่แทนตนในสภานิติบัญญัติและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง


ส่วนประเด็นที่จำเลยทั้งสามมติให้ออกประกาศรับสมัคร ส.ส.จังหวัดสงขลาเพิ่มเติมเพราะเหตุที่มีหัวหน้าพรรคประกรไทยและคนขอปลดหนี้ร้องเรียนว่าไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เพราะมีผู้ชุมนุมขัดขวางนั้น ได้ความจากคำเบิกความของ นายพิชัย ธรรมโชติ และนายณรงค์ สุขจันทร์ ผอ.กต.ประจำเขตเลือกตั้งที่ 3-4 จังหวัดสงขลา พยานโจทก์ระบุว่า เมื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่แล้วเปิดรับผู้สมัครใหม่ครั้งแรกในวันที่ 8-9 เมษายน 2549 ปรากฎว่ามีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยและผู้สมัครพรรคการเมืองเล็กหลายพรรคมาสมัคร แต่หลังจากตรวจคุณสมบัติแล้วเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว จึงให้มีการรับสมัครใหม่อีกครั้งในวันที่ 19-20 เมษายน เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตามที่
ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้น โดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายจำเลย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ การที่จำเลยทั้งสามประกาศให้รับสมัครเพิ่มเติมวันที่ 19-20 เมษายน เนื่องจากผู้สมัครพรรคเล็กขาดคุณสมบัติทำให้เหลือผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยพรรคเดียวย่อมทำให้เห็นถึงเจตนาของ


จำเลยทั้งสามว่าประสงค์ที่จะให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยมีผู้แข่งขันเพื่อหลีกเกณฑ์ได้คะแนนร้อยละ 20 โดยเจตนช่วยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยดังกล่าวย่อมทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ได้ตัวแทนของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเป็นการกระทำเชื่อมโยงกันมาโดยตลอด และแสดงให้เห็นเจตนากระทำผิดอย่างชัดแจ้งที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าการจัดเลือกตั้งใหม่เป็นการคิดแบบธรรมชาติประกอบข้อกฎหมาย คือหากเอาของชิ้นหนึ่งไปให้คนหนึ่ง แต่คนนั้นไม่รับก็ไม่ควรเอาของชิ้นเดิมไปให้อีก เห็นว่าข้อเท้จจริงปรากฏตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2543 ข้อ 6 ระบุว่า การเลือกตั้งใหม่ห้ามไม่ให้เปิดรับผู้สมัครและไม่ให้ผู้สมัครถอนการสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นระเบียบที่มีข้อกำหนดชัดเจนแล้ว ซึ่งไม่ต้องตีความไปในทางอื่นดังนั้นจำเลยทั้งสามจะอ้างว่าไม่รู้ถึงระเบียบดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นระเบียบของ กกต.เองและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2543


คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่เห็นว่า ป.วิอาญา ม.28 บัญญัติว่า บุคคลที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญามีอยู่ 2 ประเภท คือพนักงานอัยการและผู้เสียหาย จึงต้อง วินิจฉัยก่อนว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา รัฐมนตรีและศาลตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญคืออำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชนเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะ การใช้อำนาจสูงสุดในการปกครองของประชาชนเป็นไปในทางอ้อมเรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้การเลือกตั้งยังเป็นกลไกที่ประชาชนสามารถใช้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้อย่างสันติวิธี การเลือกตั้งจึงถือเป็นนวัตกรรมทางการเมืองสมัยที่มีคุณค่าอย่างยิ่งฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพและเสมอภาค โดยต้องมีหลักประกันแก่สิทธิดังกล่าวและต้องมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เสมอภาค เปิดเผยและเสรี


กกต.ประกอบด้วย ประธานคนหนึ่งและกรรมการอีก 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำ ของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เพื่อเป็นผู้ ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม การที่ กกต.มีคุณสมบัติพิเศษและมีอำนาจอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งเช่นนี้ การดำเนินการใดๆย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กกต.จัดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มิใช่เป็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเป็นการประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมทำให้สิทธิของโจทก์โดยเฉพาะสิทธิในการเลือกตั้งได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.24 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ กกต.กระทำการมิชอบต่อหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือโทษต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือกระทำการหรือละเว้นการกระทำการโดยทุจริต


นอกจากนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม 94 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตของตนมิได้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงรับสมัครเลือกตั้ง และคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยเที่ยงธรรม เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2-4 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว

โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งม.24 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่ 2-4 แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.114 ที่บัญญัติว่าในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใดให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นเป็นผู้เสียหายนั้น เห็นว่าคดีนี้หลังจากไต่สวนมูลฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องเฉพาะความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง และประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก เมื่อศาลยกฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่ พิพากษาว่าจำเลยที่ 2-4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 ม.24, 42 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 ให้จำคุกคนละ 4 ปี และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งมีกำหนดคนละ 10 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2-4 ต่อจากคดีอื่นนั้น ยังไม่ปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีเหล่านั้น จึงให้ยกคำขอและให้ยกคำขอตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157


ภายหลังจำเลยทั้งสาม ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นหลักทรัพย์ นอกจากนี้ พ.ต.อ.สพัฒน์ รัตนวราหะ รองเลขาธิการ กกต. นายบุญเกียรติ รักชาติเจริญ ผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้ง กกต. และนางพรรณศิวา บูรณะสถิตย์พร ผู้ตรวจสอบภายใน กกต.ใช้ตำแหน่งขอยื่นประกันจำเลยทั้งสามด้วย รวมหลักทรัพย์ประมาณ 2.5 ล้านบาทเศษ อย่างไรก็ดีศาลอาญาพิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ม.148 ขอให้ศาลมีคำสั่งงดออกหมายจำคุก เห็นว่าตาม ม.148 บัญญัติให้ความคุ้มกัน กกต.ระหว่างที่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเฉพาะเรื่องการจับกุมและคุมขังในชั้นสอบสวนเท่านั้น ส่วน ม.148 วรรค 2 บัญญัติว่า กรณีที่มีการจับ กกต.ขณะกระทำผิดให้รายงานไป
ยังประธาน กกต.โดยด่วนและอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับนั้นได้เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ กกต. ถูกจับหรือคุมขังก่อนมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งสิทธิความคุ้มกันดังกล่าวของ กกต.จะต่างกันกับสิทธิคุ้มกันของ ส.ส.ซึ่ง ส.ส. หรือ ส.ว.จะได้รับความคุ้มกันทั้งในชั้นสอบสวนและการพิจารณาของศาล ตามรัฐธรรมนูญ ม.165-166 จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลงดออกหมายจำคุก สั่งยกคำร้องและให้ออกหมายจำ คุกตามผลคำพิพากษา


สำหรับเรื่องการประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสาม เป็น กกต.ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ ม.136 แต่การจัดเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมา โดยจำเลยทั้งสาม กลับถูกพรรคการเมืองหลายพรรคและประชาชนส่วนหนึ่งต่อต้าน นอกจากนี้ยังมีแพทย์ อาจารย์คณะรับศาสตร์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และประชาชนหลายสาขาอาชีพทำการประท้วงด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้งโดยเปิดเผย ประกอบกับหลายเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวพรรคเดียวได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติของสังคมโดยแทนที่จำเลยทั้งสามจะใส่ใจรีบหาทางแก้ไขความไม่พอใจ ของประชาชน จำเลยกลับเดินหน้าจัดเลือกตั้งต่อไปทั้งที่ยังไม่มีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งหลายเขตอย่างเป็นทางการจนเกิดการหมุนเวียนผู้สมัครทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อการจัดเลือกตั้งของจำเลยทังสามมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงมาก่อนย่อมตระหนักดีว่า กกต.เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาชนจำนวนมากรวมทั้งพรรคการเมืองไม่ไว้วางใจในความเป็นกลาง ความสุจริตและเที่ยงธรรมของจำเลยทั้งสามแล้วย่อมกระทบกระเทือนถึงการจัดการเลือกตั้งทุกระดับ การที่จำเลย ทั้งสามยังคงปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่อไปโดยไม่ใยดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา และไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า จึงส่อพิรุธและชี้ให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ


ด้วยเหตุดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์และเชื่อได้ว่า หากศาลอาญาสั่งอนุญาตให้ปล่อยจำเลยทั้งสามระหว่าง อุทธรณ์ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับไปปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส.อีกก็น่าจะเกิดความไม่เรียบร้อย สุจริตและเที่ยงธรรมเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ดังนั้นเพื่อประโยชน์สุขและความสงบเรียบร้อยของ สังคมจึงเห็นสมควรให้รีบส่งคำร้องขอประกันตัวพร้อมสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.106 (4)