Friday, May 19, 2006

เว้น(ไม่)วรรค

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2006/05/20/w001_105499.php?news_id=105499


หลังจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเว้นวรรคทางการเมืองไปเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2549 กระแสแรงกดดันทางการเมือง โดยเฉพาะการเผชิญหน้าของกลุ่มม็อบที่สนับสนุน และคัดค้านทักษิณ ได้คลี่คลายลง

เพียงเวลาไม่นาน หลังศาลปกครองสั่งระงับเลือกตั้ง 14 เขตชั่วคราว โดยพิจารณาคำฟ้องทุจริตและไม่เป็นธรรม ไปเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2549 โดยทำให้การเลือกตั้งครั้งที่สามที่จะมีขึ้นวันที่ 29 พ.ค. 2549 ต้องยุติลงโดยปริยาย

เหตุการณ์การขับเคียวกันระหว่าทรท.และศาลได้เริ่มขึ้น

1 พ.ค.2549 กลุ่มวังน้ำยม เริ่มกดดันศาลประกอบด้วย นายโสภณ เพชรสว่าง ส.ส.บุรีรัมย์, นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม ,นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม,นายจำนงค์ โพธิสาโร ,นายประสิทธิ์ จันทราทอง ส.ส.หนองคาย, นายธีรยุทธ วานิชชัง ส.ส.อุดรธานี , น.ต.ศิธา ทิวารี .นายเอกพร รักความสุข, นายจตุพร พรหมพันธุ์ โหมโรงไม่ต้องการให้ศาลตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ และจะดำเนินฟ้องศาลทันที โดยให้เหตุผลว่า การหันคูหาเลือกตั้งออกเป็นปัญหาเล็กน้อยมาก และศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความแล้วว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจของกกต. หากใช้เหตุผลนี้มาตัดสินก็ไม่มีน้ำหนักพอ

และหากศาลตัดสินให้ 2 เม.ย. 2549 เป็นโมฆะ แกนนำกลุ่มนี้เสนอให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาลงเลือกตั้งใหม่ได้

8 พ.ค. 2549 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติให้การเลือกตั้ง 2เม.ย.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 6 และควรให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ด้วยคะแนน 9 ต่อ 5

9 พ.ค. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ควงคุณหญิงพจมาน เดินช็อบปิ้งห้างดิเอ็มโพเรี่ยมต่อหน้าสาธารณะ เมื่อนักข่าวติดตามพ.ต.ท.ทักษิณไปนั้น ก็ได้รับคำบอกว่าตามมาทำไม ตนเป็นคนตกงาน ไม่มีงานทำ และเมื่อนักข่าว ยิงคำถามว่า" ก็ลงเลือกตั้งครั้งใหม่จะได้มีงานทำ" พ.ต.ท.ทักษิณ "ถึงกับยิ้มรับ แต่ไม่ได้ตอบคำถาม"

10 พ.ค.2549 คำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญ ล้มเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 และสั่งให้เลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน หลังพระราชกฤษฎีกาใหม่ประกาศใช้

10 พ.ค. 2549 นายปริญญา นาคฉัตรี หนึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ลั่นไม่ลาออก แต่เปิดทางให้ศาลช่วยจัดการเลือกตั้ง

11 พ.ค. 2549 ไทยรักไทยระส่ำเรื่องกระแสข่าวยุบพรรคกรณีจ้างพรรคเล็กโทษแรงถึงขั้นยุบพรรค มีการโยนให้พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รัตตพงษ์ไพศาล ชี้แจงเรื่องดังกล่าว

11 พ.ค.2549 นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไม่ขอร่วมประชุมกำหนดวันเลือกตั้งตามคำเชิญกกต.โดยให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยมีความชัดเจนแล้วไม่จำเป็นต้องเข้าร่วม

12 พ.ค.2549 นายวิชา มหาคุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ออกมาชี้ กกต.ต้องลาออก ตามคำแนะนำของศาล แต่ยังมีเวลาตัดสินใจ

13 พ.ค. 2549 นายสุภัทร สิทธิมนัส เลขาธิการศาลอาญา แผนกคดีอาญา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่ากรณีคดีพรรคการเมืองใหญ่จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง กกต.ต้องสั่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้สั่งพิจารณา

13 พ.ค.2549 สมาชิกพรรคไทยรักไทย ระบุ 15 พ.ค. 2549จะมีการหารือระหว่างสมาชิกว่า อนุกรรมการสอบสวนกกต.ไม่ยุติ พร้อมกันนั้นได้ส่งหนังสือให้กกต.เรียกแกนนำพรรคที่ถูกกล่าวหาไปให้ข้อมูล และกล่าวหาอนุกรรมการไม่ยุติธรรมฟังความข้างเดียว

13 พ.ค. 2549 พ.ต.ท. ทักษิณ เก็บตัวเงียบ รอดูคอนเสิร์ต อัสนี -วสันต์ ที่เมืองทองธานี ขณะที่'คุณหญิงพจมานประชุมแกนนำพรรคไทยรักไทย

15 พ.ค. 2549 นายวิรัตน์ ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา เดินหน้าจัดการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.ลาออกเพื่อประโยชน์ต่อบ้านเมืองและต่อตัว กกต.เอง

15 พ.ค. 2549 พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ หนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลาออกจากกกต.

16 พ.ค. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฏีกา และศาลปกครอง ไม่ร่วมสังฆกรรมจัดการเลือกตั้งร่วมกับกกต. หากยังยืนยันอยู่ต่อ

17 พ.ค. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ปฏิเสธสัมภาษณ์การเมือง

18 พ.ค. 2549 อนุกรรมการสอบสวนกกต.เมินสอบพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็ก บอกให้ไปถามพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต.รู้ดีที่สุด

19 พ.ค. 2549 ม็อบหนุนให้กำลังใจพ.ต.ท.ทักษิณเรียกร้องให้กลับเข้าทำงานแก้ปัญหายาเสพติด และสารพัดปัญหา เจ้าตัวรับลูกทันทีบอก"ในเมื่อปัญหามีก็ต้องแก้"

จนถึงขณะนี้ ท่าที พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่ว่าจะเว้นวรรคทางการเมือง แต่ในฐานะยังมีตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และการรักษาการนายกรัฐมนตรี กุมบังเหียนอยู่นั้น ทำให้สามารถผลักดัน ทอดใย กลุ่มทางการเมืองที่หนุนหลังอยู่ต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์ ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าทักษิณ จะพ่ายแพ้ทางการเมืองไปแล้ว แต่หากทำความเข้าใจอำนาจทางการเมืองให้แช่มชัด อำนาจการสั่งการ และการมีบริวารล้อมรอบอยู่นั้น ยังเสริมให้อำนาจทางการเมืองพ.ต.ท. ทักษิณ ไม่ได้สูญสิ้นไปอย่างแน่นอน

และมาถึงวันนี้ ท่าทีชัดเจนมากขึ้นว่า "ทักษิณ" พร้อมจะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองต่อไป และการกลับมาของทักษิณ ครั้งนี้ คงจะแก้หรือสร้างปัญหากันแน่ ?