Friday, April 21, 2006

ความสำคัญของสมาชิกวุฒิสภา

ที่มา http://www.ect.go.th/thai/senator/senate1.htm

ความสำคัญของสมาชิกวุฒิสภา

สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนของประชาชนในวุฒิสภาเพื่อใช้อำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย การควบคุมการทำงานของรัฐและเป็น
ผู้คัดเลือกและถอดถอนคนไปดำรงตำแหน่งหรือออกตำแหน่งในองค์กรอิสระที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั่วประเทศมี ส.ว. ได้ 200 คน แบ่งกันไปตามจังหวัดต่างๆตามจำนวนประชากร มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี ไม่มีการยุบสภา
เหมือนส.ส. ถ้าได้เป็น ส.ว. แล้วจะเป็นสองสมัยติดต่อกันไม่ได้ ต้องเว้นระยะเวลา 6 ปี จึงจะสมัครใหม่ได้

การที่ ส.ว. ต้องไปทำหน้าที่สำคัญทั้งกลั่นกรอง-คัดเลือก-ตรวจสอบ และถอดถอน เช่นนี้จึงมีข้อห้ามสำหรับ ส.ว. หลายประการ เช่น

- ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะต้องทำหน้าที่อย่างอิสระ และต้องตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง รวมทั้งถอดถอน
นักการเมืองที่ทุจริตและประพฤติมิชอบไว้ด้วย ดังนั้น จึงต้องไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และห้ามพรรคการเมืองสนับสนุน

- ห้ามผู้สมัครหรือผู้ใดหาเสียง (ผู้ใด หมายถึง ผู้ใกล้ชิด เพื่อน ญาติพี่น้อง หรือหัวคะแนนของผู้สมัคร) ผู้สมัครควรเป็นที่รู้จักและ ได้รับความศรัทธาจากประชาชนว่ามีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีผลงานในอดีตที่เด่นชัด สามารถไปทำหน้าที่ถอดถอนคนไม่ดีออกจากตำแหน่ง ไปกลั่นกรองกฎหมาย จึงไม่ต้องโฆษณาหาเสียง เหตุผลที่ห้ามหาเสียงอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้สมัครไปขอรับการสนับสนุน จากพรรคการเมืองหรือบุคคลใดอันอาจทำให้ ส.ว. ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองหรือบุคคลนั้น และไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ

ดังนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 91 จึงห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือบุคคลใดดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง เว้นแต่การ แนะนำตัว ผู้สมัครเท่านั้น

ประชากร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะเลือก ส.ว.ได้เพียง 1 คน หรือประทับตราเครื่องหมายกากบาทได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น

หน้าที่ของ ส.ว. มีดังนี้

1. กลั่นกรองกฎหมาย

2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง
หรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ ฯลฯ

3. เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง ดังนี้
• ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง
• ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
• ประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
• ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
• กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
• ประธานศาลปกครองสูงสุดและตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
• กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง
• ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
การทุจริตแห่งชาติ
• ประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

4. วุฒิสภามีหน้าที่พิจารณาและมีมติให้ถอดถอน
• นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด
• กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
• ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่าออกจากตำแหน่งถ้ามีพฤติการณ์
ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรม
หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

จำนวน ส.ว.

ส.ว. ทั้งประเทศมี 200 คน ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน ส.ว. แต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับจำนวนราษฎรของจังหวัดนั้นๆ
โดยคำนวณ ดังนี้

x (จำนวนราษฎร : ส.ว. 1 คน) = จำนวนราษฎรทั้งประเทศ/200

• จังหวัดที่มีราษฎรน้อยกว่า x จะมี ส.ว. ได้ 1 คน
• สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่มีราษฎรมากกว่า x นำ x ไปหารประชากร ดังนี้

ราษฎรของจังหวัดใด/x = จำนวน ส.ว.ของจังหวัดนั้น + เศษ

• เมื่อคำนวณทั้งประเทศแล้ว ยังได้ ส.ว. ไม่ครบ 200 คนให้เพิ่มจำนวน ส.ว. แก่จังหวัดที่มีเศษสูงกว่าตามลำดับไปจนครบ 200 คน

หมายเหตุ คำนวณจำนวนราษฎรต่อ ส.ว. 1 คน จากจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามทะเบียนราษฎรทั่วประเทศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง

คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว.

• มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
• มีอายุไม่ต่ากว่า 40 ปี บริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
• จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า
• ผู้สมัครต้องมีลักษณะเข้าข้อหนึ่งข้อใด ดังนี้
• มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัคร หรือ
• เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี การศึกษา หรือ
• เคยรับราชการ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
• เป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
• ไม่เป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง
• เคยเป็น ส.ส.จังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งและพ้นจากการเป็นส.ส.มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัคร หรือเคยเป็นสมาชิก
สภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้น

นอกจากนี้ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอีกหลายประการ ดังนี้

• เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง
• เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วยังไม่เกิน 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
• เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในอายุของวุฒิสภาคราวก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง
• ติดยาเสพติดให้โทษ
• เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งพ้นคดี
• วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
• เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
• อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
• ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและคุมขัง
• เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาท
• เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการทุจริต
และประพฤติมิชอบในวงราชการ
• เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ
• เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชการการเมือง
• เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
• เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
• เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ตุลาการศาลปกครอง กรรมการ ป.ป.ช. หรือ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
• อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพราะจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือ
• เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันมีมติจนถึงวันเลือกตั้ง
• เป็นผู้เสียสิทธิทางการเมือง